สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) ได้รวบรวมพระราชดำรัสและพระราชดำริเกี่ยวกับการพัฒนาและรณรงค์การใช้หญ้าแฝกอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เริ่มแรกนับแต่วันที่ 22 มิถุนายน 2534 จนถึง 25 กรกฎาคม 2554
วันที่ 22 และ 29 มิถุนายน 2534
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราชดำริแก่ นายสุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการ กปร. ณ สวนจิตรลดา และ ณ วังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ สรุปดังนี้ 1. ให้ศึกษาทดลองการปลูกหญ้าแฝกเพื่อป้องกันการพังทลายของดินในพื้นที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาฯ และพื้นที่อื่นๆ ที่เหมาะสมอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ 2. การดำเนินการศึกษาทดลองการปลูกหญ้าแฝกให้พิจารณาลักษณะของภูมิประเทศซึ่งแบ่งได้ 2 ลักษณะของพื้นที่ ดังนี้ 2.1 การปลูกหญ้าแฝกบนพื้นที่ภูเขาให้ปลูกหญ้าแฝกตามแนวขวางของทางลาดชัน และในร่องน้ำของภูเขาเพื่อป้องกันการพังทลายของหน้าดินและช่วยเก็บความชื้นในดินด้วย 2.2 การปลูกหญ้าแฝกบนพื้นที่ราบให้ดำเนินการในลักษณะ ดังนี้ - ปลูกโดยรอบแปลง - ปลูกในแปลง ๆ ละ 1 หรือ 2 แนว - สำหรับแปลงพืชไร่ให้ปลูกตามร่องสลับกับพืชไร่ 3. ผลของการศึกษาทดลอง ควรเก็บข้อมูลทั้งทางด้านการเจริญเดิบโตของลำต้นและราก ความสามารถในการอนุรักษ์ความสมบูรณ์ของดินและการเก็บความชื้นในดินและเรื่องพันธุ์หญ้าต่างๆ ด้วย
วันที่ 5 กรกฎาคม 2534
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำริแก่ นายปราโมทย์ ไม้กลัด ผู้อำนวยการสำนักงานกิจกรรมพิเศษ กรมชลประทาน และ พ.ต.อ.ธีรเดช รอดโพธิ์ทอง ผู้อำนวยการโครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ณ วังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ สรุปดังนี้ 1. ได้ทรงศึกษาการอนุรักษ์หน้าดินโดยวิธีธรรมชาติมานานแล้ว ซึ่งในแต่ละพื้นที่มักจะเปิดหน้าดินแล้วทำการเกษตร เช่น การยกร่องพรวนดินซึ่งยังถือว่าเป็นวิธีการที่ผิดธรรมชาติซึ่งจะเกิดปัญหาในอนาคต จึงทรงแนะนำให้ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายฯ ทำการเกษตรอย่างไม่ทำลายธรรมชาติ เช่น การไม่ไถพรวนเปิดหน้าดิน เปลือยดิน เป็นต้น โดยให้ทุกโครงการในศูนย์ศึกษาพัฒนาห้วยทรายฯ ทำเป็นตัวอย่าง แล้วหาทางแนะนำให้ราษฎรทำตามต่อไป 2. ได้ทรงศึกษาเอกสารของธนาคารโลกเกี่ยวกับการอนุรักษ์หน้าดินด้วยหญ้าแฝก จึงให้ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายฯ ทำการศึกษาทดลองปลูกหญ้าแฝกเพื่ออนุรักษ์หน้าดิน โดยปลูกและขยายพันธุ์หญ้าแฝกในพื้นที่รูปแบบต่างๆ เช่น ขอบร่องน้ำ แปลงมะม่วงหิมพานต์ บริเวณที่ลาดชัน หรือตามร่องน้ำธรรมชาตินำหินไปกั้นเป็นฝายเล็กๆ แล้วปลูกหญ้าแฝกด้านหน้าหรือในพื้นที่ทำการเกษตร เช่น แปลงปลูกข้าวโพด เป็นต้น ทั้งนี้ ให้บันทึกภาพก่อนดำเนินการ และหลังดำเนินการไว้เป็นหลักฐานและให้ทุกโครงการในศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายฯ ทำเป็นตัวอย่าง
วันที่ 7 กรกฎาคม 2534
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จทอดพระเนตรโครงการพระราชดำริสวนหาดทรายใหญ่ อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และมีพระราชกระแสว่า “...ขอให้ปลูกหญ้าแฝกไว้ด้วย เพราะหญ้าแฝกมีประโยชน์มากในการช่วยยึดดินไม่ให้พังทลายช่วยรักษาหน้าดิน โดยเฉพาะที่โครงการฯ นี้มีที่ลาดชันหลายแห่ง นอกจากนี้หญ้าแฝกยังช่วยกักเก็บอินทรียวัตถุไว้ในดิน ใบอ่อนของหญ้าแฝกยังเป็นอาหารสัตว์ได้อีกด้วย...”
วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2535
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงมีพระราชดำรัส ณ โต๊ะเสวยที่ 1 ภายในพระตำหนัภูพิงค์ราชนิเวศน์ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ สรุปดังนี้
ให้กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดนนำหญ้าแฝกไปปลูกตามฐานปฏิบัติการต่างๆ และหมู่บ้านใกล้เคียง แล้วขยายไปปลูกทั่วประเทศ เนื่องจากหญ้าแฝกมีคุณลักษณะที่เหมาะสมในการจัดระบบอนุรักษ์ดินโดยการปลูกเป็นแนวรั้วกั้นตามระดับชั้น และได้มีการศึกษาทดลองใช้อย่างได้ผลดีในประเทศแถบเอเชียหลายประเทศแล้ว นอกจากนี้ยังพบว่าการปลูกหญ้าแฝกยังส่งผลให้การเพาะปลูกพืชอื่นๆ ระหว่างแนวรั้วหญ้าแฝกนั้นให้ผลผลิตได้อย่างเต็มที่มากขึ้น
วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2535
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถและสมเด็จพระเทพ รัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงตรวจเยี่ยมการดำเนินงานของโครงการหลวง ณ ที่ทำการที่ตำบลห้วยแก้ว อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ พระองค์ได้เสด็จฯ ไปเยี่ยมชมแปลงรวบรวมพันธุ์หญ้าแฝก ซึ่งได้เก็บรวบรวมพันธุ์พื้นเมืองจากท้องถิ่นต่างๆ ในประเทศ รวมทั้งของต่างประเทศด้วยและยังได้เยี่ยมชมการทดลองปลูกหญ้าแฝกขวางร่องน้ำ เพื่อลดความแรงของน้ำและสะสมอินทรียวัตถุบริเวณหน้าแถวหญ้าแฝก
หลังจากนั้นทั้งสามพระองค์ได้เสด็จฯ ไปทอดพระเนตรแปลงขยายพันธุ์หญ้าแฝก ณ สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 6 จังหวัดเชียงใหม่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำริ ดังนี้
1. หญ้าแฝกเป็นพืชที่มีระบบรากลึกแผ่กระจายลงไปในดินตรงๆ เป็นแผงเหมือนกำแพงช่วยกรองตะกอนดินและรักษาหน้าดินได้ดี จึงควรนำมาศึกษาและทดลองปลูก 2. การปลูกหญ้าแฝก ควรปลูกเป็นแถวเดี่ยว ระยะระหว่างต้นห่างกัน 10 - 15 ซม. ทำให้ไม่เปลืองพื้นที่การดูแลรักษาง่าย ควรทำการทดลองปลูกในร่องน้ำและบนพื้นที่ลาดชันให้มากเพื่อช่วยป้องกันการชะล้างพังทลายของดิน 3. การปลูกหญ้าแฝกเป็นแนวความคิดใหม่ ควรปลูกโดยไม่ต้องหวังผลอะไรมากนัก แต่ผลที่ได้จะดีมาก และการปลูกไม่จำเป็นต้องไปปลูกในที่ของเกษตรกร ขอให้ปลูกกันในสถานีพัฒนาที่ดินเพื่อเป็นแบบอย่างเพื่อคัดพันธุ์หาพันธุ์ที่ดีที่ไม่ขยายพันธุ์โดยออกดอก ต้องดูว่าปลูกแล้วมีพันธุ์ไหนที่ทนแล้ง ในหน้าแล้งยังเขียวอยู่ก็ใช้ได้ โดยขอให้ปลูกก่อนฤดูฝนจะทำให้เกษตรกรในพื้นที่ข้างเคียงเห็น
วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2535
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงตรวจเยี่ยมการดำเนินงานของศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่อง มาจากพระราชดำริ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีนายสุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการ กปร. นายปราโมทย์ ไม้กลัด ผู้เชี่ยวชาญพิเศษให้คำปรึกษาการจัดสรรน้ำและปรับปรุงบำรุงรักษา กรมชลประทานและนายพิมลศักดิ์ สุวรรณทัต ผู้ช่วยเลขาธิการ กปร. เข้าเฝ้ารับเสด็จฯ ถวายงาน
ในการนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ทรงปลูกหญ้าแฝกในแปลงทดลองของศูนย์ฯ และได้พระราชทานพระราชดำริ โดยสรุปดังนี้ 1. ให้ดำเนินการปลูกหญ้าแฝก ซึ่งจะช่วยทั้งการอนุรักษ์ดินและน้ำโดยรากของหญ้าแฝกจะอุ้มน้ำไว้ ซึ่งจะช่วยให้เกิดความชุ่มชื้นในดินอันจะสามารถปลูกพืชอื่นๆ เช่น ข้าวโพดหรือต้นไม้ยืนต้นอื่นๆ ในบริเวณที่ปลูกหญ้าแฝกได้และคุณสมบัติอีกอย่างหนึ่งของหญ้าแฝกก็คือ หญ้าแฝกจะเป็นตัวกักเก็บไนโตรเจน และกำจัดสิ่งเป็นพิษหรือสารเคมีอื่นๆ ไม่ให้ไหลลงไปยังแม่น้ำลำคลอง โดยกักให้ไหลลงไปใต้ดินแทน 2. ให้ดำเนินการศึกษาและคัดเลือกพันธุ์ที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ไปพร้อมๆ กันเพื่อที่จะได้นำไปส่งเสริมและขยายพันธุ์ในพื้นที่อื่นๆ ต่อไป โดยเฉพาะตามไหล่เขาที่จะมีการพังทลายของดินมาก เช่น ที่โครงการเขาชะงุ้มและที่วัดญาณสังวราราม ก็ควรจะปลูกเช่นกัน และทรงแนะนำวิธีการปลูกว่าสมควรปลูกหญ้าแฝกก่อนหน้าฝนประมาณ 3 เดือน เพื่อที่จะให้ต้นหญ้าแฝกแข็งแรงพอที่จะทนต่อความแรงของน้ำในหน้าฝนได้ และยังทรงให้ศึกษาทดลองการปลูกหญ้าแฝกในร่องน้ำในลักษณะที่เป็น Check Dam ด้วย ตลอดจนที่สูงชันตามริมถนนที่เห็นดินเปลือยอยู่ให้นำหญ้าแฝกไปปลูกเพื่อป้องกันดินพังทลายด้วย
วันที่ 14 มีนาคม 2535
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถและสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยมชมกิจการของศูนย์พัฒนาโครงการหลวง แม่ลาน้อย อำเภอแม่ลาน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน พระองค์ได้รับสั่งให้ชาวเขาเผ่าม้งปลูกหญ้าแฝกระหว่างแถวของกะหล่ำปลี ซึ่งชาวเขานิยมปลูกเป็นพืชฤดูแล้ง โดยการให้น้ำระบบฝนเทียม ซึ่งชาวเขานิยมปลูกเป็นพืชฤดูแล้ง โดยการให้น้ำระบบฝนเทียม นอกจากนั้น ทั้งสามพระองค์ยังได้เสด็จฯไปทอดพระเนตรแปลงรวบรวมพันธุ์ แปลงขยายพันธุ์และทรงปลูกหญ้าแฝกไว้เป็นอนุสรณ์อีกด้วย
วันที่ 19 มีนาคม 2535
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยมชมศูนย์พัฒนาการเกษตรที่สูงปางตอน ตำบลหมอกจำแป๋ อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ในการนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราชดำริ ในส่วนของการปลูกหญ้าแฝกเพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำ ให้พิจารณาปลูกก่อนหน้าฝนสัก 3 เดือน ในกรณีที่พื้นที่มีน้ำพอที่จะมารดต้นหญ้าแฝก เพราะว่าจะทำให้หญ้าแฝกแข็งแรงเมื่อถึงหน้าฝนจะทนต่อความแรงของน้ำในหน้าฝนได้
วันที่ 14 พฤษภาคม 2535
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระราชดำริต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐานมีสาระสำคัญ สรุปดังนี้ 1. ให้เร่งดำเนินการปลูกหญ้าแฝกให้ครอบคลุมทั่วประเทศไทยภายใน 2 ปี ถึงแม้การดำเนินงานอาจจะสิ้นเปลืองงบประมาณบ้างก็ควรได้ดำเนินการ 2. การคัดเลือกพันธุ์หญ้าแฝกควรเป็นพันธุ์ที่ไม่สามารถขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด 3. วิธีการปลูกเมื่อแยกหน่อควรมีรากประมาณ 15 ซม. เมื่อนำไปปลูกในพื้นที่ไม่จำเป็นต้องตัดถุงเพราะรากหญ้าแฝกจะสามารถขยายมานอกถุงได้ 4. การปลูกหญ้าแฝกควรปลูกทั้งในพื้นที่เพื่อการเกษตร ขอบสระหรือแหล่งน้ำในบริเวณพื้นที่ป่าไม้ ตลอดจนสามารถปลูกในบริเวณที่เป็นร่องน้ำ เพื่อกรองตะกอนดินไม่ให้ไหลไปสู่แหล่งเก็บน้ำและรากหญ้าแฝกซึ่งหนาแน่นจะมีส่วนในการเก็บความชุ่มชื้นในดินได้ 5. สำหรับโครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ให้ดำเนินการปลูกในบริเวณหมู่บ้านมุสลิมเป็นแนวเพื่อเพิ่มปริมาณของหน้าดิน สำหรับโครงการฟื้นฟูที่ดินเสื่อมโทรมเขาชะงุ้ม ให้ดำเนินการปลูกในส่วนบนที่ติดกับเขาเขียว โดยให้ปลูกติดกันเป็นแถวเดียว โดยให้นำหน้าดินมาใส่เพิ่มเติมในระยะต้น เมื่อหญ้าแฝกขึ้นดีแล้วจะช่วยเพิ่มปริมาณหน้าดินได้
วันที่ 8 มิถุนายน 2535
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมชมโครงการศึกษาวิธีการฟื้นฟูที่ดินเสื่อมโทรมเขาชะงุ้มตามแนวพระราชดำริ ที่อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี ในการนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระราชดำริ สรุปดังนี้ 1. การคัดเลือกพันธุ์หญ้าแฝกนั้น เป็นสิ่งสำคัญที่ควรระมัดระวังอย่างมาก ควรเลือกพันธุ์ ที่ไม่สามารถกระจายพันธุ์ได้โดยเมล็ด เพราะถ้าเป็นพันธุ์ที่แพร่กระจายโดยทางเมล็ดแล้วจะเป็นอันตราย 2. การปลูกหญ้าแฝกในพื้นที่เก็บกักน้ำของอ่างเก็บน้ำ ควรปลูกตามแนวระดับโดยรอบอ่างเก็บน้ำ จำนวน 3 แนว คือ - แนวที่ 1 ปลูกตามแนวระดับสูงเท่ากับระดับเก็บกักน้ำ - แนวที่ 2 ปลูกตามแนวสูงกว่าระดับเก็บกักน้ำ 20 ซม. - แนวที่ 3 ปลูกตามแนวต่ำกว่าระดับเก็บกักน้ำ 20 ซม. การปลูกหญ้าแฝกเป็นแนวรอบพื้นที่เก็บกักน้ำ จะให้ประโยชน์อย่างน้อย 2 ประการ คือ 1) ปลูกตามแนวระดับสูงเท่ากับระดับเก็บกักน้ำ 2) ปลูกตามแนวสูงกว่าระดับเก็บกักน้ำ 20 ซม. 3. ควรทดลองปลูกในดินที่มีชั้นดานลงไปเล็กน้อยแล้วปลูกหญ้าแฝก และหลังจากนั้นปล่อยให้หญ้าแฝกเจริญเติบโตเป็นระยะเวลา 2 - 3 ปี จึงศึกษาว่ารากสามารถชอนไชผ่านชั้นดาน (หรือระเบิดดาน) ไปได้เพียงใด 4. การปลูกหญ้าแฝกเพื่อป้องกันการกัดเซาะของน้ำในร่องน้ำให้พิจารณาดำเนินการ ดังนี้ 3.1 ปลูกตามแนวระดับสูงเท่ากับระดับเก็บกักน้ำ 3.2 ปลูกตามแนวสูงกว่าระดับเก็บกักน้ำ 20 ซม. 5. ควรทดลองปลูกหญ้าแฝกในบริเวณที่มีหญ้าคาระบาด เพื่อศึกษาดูว่าหญ้าแฝกจะสามารถควบคุมหญ้าคาได้หรือไม่ วิธีควรปฏิบัติก็คือปลูกหญ้าแฝกล้อมรอบหญ้าคาหลังจากที่หญ้าแฝกตั้งตัวดีแล้ว ให้จุดไฟเผาหญ้าคา เพื่อดูว่าหญ้าแฝกสามารถป้องกันไฟลุกลามได้มากน้อยเพียงใด 6. ควรปลูกหญ้าแฝกล้อมรอบไม้ผล ซึ่งจะสามารถป้องกันไม่ให้ดินรอบๆ ต้นไม้เป็นหลุมในขณะเดียวกันก็สามารถตัดใบหญ้าแฝกคลุมดิน เพื่อรักษาความชุ่มชื้นให้แก่ไม้ผลได้ 7. การปลูกหญ้าแฝกในแปลงที่เพาะปลูกพืชสามารถทำได้หลายรูปแบบ - ปลูกโดยรอบแปลง - ปลูกในแปลงๆ ละ 1 หรือ 2 แถว - สำหรับแปลงพืชไร่ให้ปลูกตามร่องสลับกับพืชไร่ 8. การปลูกหญ้าแฝกในแปลงที่เพาะปลูกพืชสามารถทำได้หลายรูปแบบ
วันที่ 6 กรกฎาคม 2535
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จทอดพระเนตร โครงการพระราชดำริสวนหาดทรายใหญ่อีกวาระหนึ่ง ทั้งสองพระองค์ได้ทอดพระเนตรแปลงขยายพันธุ์หญ้าแฝกบนพื้นที่ต้นเขา พระองค์ได้มีพระราชกระแสแนะนำ สรุปดังนี้
ควรปลูกให้ชิดกว่านี้เพราะยังไม่แน่ใจว่าหญ้าแฝกที่ปลูกอยู่เป็นพันธุ์อะไรและมีลักษณะอย่างไร ต่อจากนั้นได้ทรงปลูกหญ้าแฝกในแปลงทดลองที่ได้เตรียมไว้ โดยใช้พันธุ์ที่รวบรวมจากเขาเต่า
หลังจากนั้นอีก 5 วัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้มีรับสั่งให้ผู้เชี่ยวชาญหญ้าแฝกมาตรวจสอบหญ้าแฝก ที่โครงการฯ ผลการตรวจสอบปรากฏว่า พันธุ์พื้นเมืองที่ปลูกอยู่เป็นพันธุ์ที่ดีมากจึงทรงมีพระราชกระแสให้ขยายเพิ่มเติม เพื่อที่จะให้พื้นที่อื่นๆ ได้รับพันธุ์ต่อไป
วันที่ 22 กรกฎาคม 2535
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรโครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี ในการนี้ได้ทรงปลูกหญ้าแฝกบริเวณพื้นที่แปลงทดลองปลูกหญ้าแฝกท้ายอ่างเก็บน้ำและได้พระราชทานพระราชดำริกับข้าราชการที่เฝ้ารับเสด็จฯ สรุปดังนี้ 1. ควรเร่งปลูกหญ้าแฝกให้มากๆ เพราะหญ้าแฝกมีคุณสมบัติพิเศษในการอนุรักษ์ดิน หลายประการ โดยเฉพาะดินที่มีโครงสร้างแข็งดังเช่นที่ห้วยทรายนี้ หญ้าแฝกจะทำหน้าที่เป็นเขื่อนที่มีชีวิตที่จะช่วยทำให้ดินมีความชุ่มชื้นและอุดมสมบูรณ์มากขึ้น 2. ในการปลูกหญ้าแฝกตามแนวลาดเอียง ควรให้แต่ละแถวห่างกันมากขึ้นประมาณ 1 - 2 เมตร ตามแนวดิ่ง เพื่อประหยัดหน่อพันธุ์ แต่ควรปลูกชิดๆ กัน เพื่อให้หญ้าแฝกมีผลเร็วขึ้น ถ้าจะปลูกไม้ผลควรปลูกหญ้าแฝกเป็นรูปครึ่งวงกลมล้อมต้นไม้มีผลคล้ายฮวงซุ้ย 3. ควรปลูกหญ้าแฝกเหนือแหล่งน้ำ เพื่อเป็นแนวป้องกันตะกอนและดูดซับสารเคมี ตลอดจนของเสียต่างๆ ที่ไหลลงในแหล่งน้ำ เพราะหญ้าแฝกจะดูดซับสารพิษต่างๆ ไว้ในรากและ ลำต้นไว้ได้นาน จนสารเคมีนั้นสลายตัวเป็นปุ๋ยสำหรับพืชต่อไป
วันที่ 28 สิงหาคม 2536
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำรัสแก่ นายสุเมธ ตันติเวชกุล ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน ดังนี้
“การปลูกหญ้าแฝกถ้าปลูกเป็นกอใหญ่และห่างประมาณ 15 ซม. ถ้าปลูกใกล้ๆ คือ 2 - 3 ซม. และใช้กอเล็กก็จะเชื่อว่าเมื่อเติบโตมักจะปิดแถวได้ดีกว่า ความสิ้นเปลืองของหญ้าแฝกก็อาจจะน้อยกว่า หลังจากปลูกก็จะติดกันได้ผลภายในไม่กี่เดือนแต่อย่างกอที่ปลูกห่างกว่าจะได้ผลก็ 2 ปี เพราะฉะนั้นไม่ทันการณ์ ที่ดอยตุงนั้นเพาะปลูกหนามากจึงสิ้นเปลืองมากแต่เป็นการทดลองหวังผลรวดเร็ว
สรุปได้ว่า ต้องทำกอเล็กลงไปหน่อยแล้วก็ปลูกให้ใกล้และชิดกัน สำหรับระยะห่างของแต่ละแถวแต่เป็นแนวลาดเท 2 เมตรต่อแถว แล้วก็อยู่บนและต่ำลงมา ส่องระดับลงมาให้ได้ระดับ 2 เมตร ก็อาจจะไม่ถึง 2 เมตรก็ได้ ประมาณ 1.50 เมตร เพื่อความสะดวก ถ้าเป็น 1.50 เมตร สะดวกกว่าเพราะประมาณความสูงของคนซึ่งถ้า 2 เมตร ต้องเขย่งส่องแต่ถ้าส่องระดับนี้ก็จะสะดวกกว่า ทำแถวให้ได้ขนานกับทางเทแล้วก็อีกแถวลงมาจะส่องได้พอดี เดินส่องไปสะดวก”
วันที่ 15 กรกฎาคม 2539
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี ทอดพระเนตรการดำเนินโครงการศึกษาวิธีการฟื้นฟูที่ดินเสื่อมโทรมเขาชะงุ้มฯ อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี ได้มีพระราชดำริเกี่ยวกับหญ้าแฝก (เพิ่มเติม) กับ นายสุเมธ ตันติเวชกุล นายจริย์ ตุลยานนท์ นายสวัสดิ์ วัฒนายากร นายรุ่งเรือง จุลชาต นายปราโมทย์ ไม้กลัด นายสิทธิลาภ วสุวัต นายสิมา โมรากุล นายพยุง นพสุวรรณ และข้าราชการที่รอรับเสด็จฯ สรุปดังนี้
1. ทรงเน้นถึงระยะปลูกหญ้าแฝก ควรปลูกให้ชิด โดยให้ระยะห่างระหว่างต้น 5 ซม. 2. การปลูกหญ้าแฝกเพื่อรักษาความชุ่มชื้นในดินให้แก่ไม้ผลและไม้ยืนต้น ในลักษณะเป็นแนววงกลมรอบโคนต้นไม้นั้น อาจก่อให้เกิดปัญหารากของหญ้าแฝกที่มีจำนวนมากเกินไป จะแย่งอาหารจากต้นไม้ อันจะเป็นการสกัดกั้นการเจริญเติบโตของต้นไม้ที่ปลูก ให้เปลี่ยนเป็นการปลูกเป็นแบบครึ่งวงกลมด้านล่างของ Slope เพื่อแก้ไขปัญหานี้ เพื่อช่วยให้หญ้าแฝกได้ทำหน้าที่รักษาความชุ่มชื้นในดินได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป 3. การวางแนวปลูกหญ้าแฝกแบบรูปตัววีคว่ำ (∧) เพื่อแก้ไขการเกิดร่องน้ำแบบลึกที่เกิดจากการกัดเซาะของน้ำ (Gully Erosion) ให้ปลูกหญ้าแฝกตามแนวระดับพาดผ่านร่องน้ำและให้ระดับของแนวหญ้าแฝกตอนบน (ปลายแหลมของตัววีคว่ำ) มีระดับสูงกว่าด้านล่าง เมื่อน้ำไหลลงมาตามความลาดเทของพื้นที่มาถึงแนวหญ้าแฝก ซึ่งจะช่วยลดการกัดเซาะในร่องน้ำและจะช่วยให้เกิดการทับถมของตะกอนในร่องน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ 4. ให้ทดลองปลูกหญ้าแฝกโดยใช้สว่านเจาะดิน เจาะลึกลงไปในชั้นของดินลูกรัง จากนั้นให้ใช้ดินดีใส่ในหลุมที่สว่านเจาะแล้ว จึงปลูกหญ้าแฝก รากหญ้าแฝกจะเจริญเติบโตหยั่งลึกลงไปในชั้นหินลูกรังได้ดียิ่ง 5. ให้พิจารณาปลูกหญ้าแฝกในพื้นที่โครงการเขาชะงุ้มฯ ให้ทั่วพื้นที่
วันที่ 6 สิงหาคม 2539
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จทรงตรวจเยี่ยมผลการปฏิบัติงาน ในพื้นที่โครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายฯ จังหวัดเพชรบุรี ได้พระราชทานพระราชดำริเกี่ยวกับหญ้าแฝก (เพิ่มเติม) กับนายสุเมธ ตันติเวชกุล นายประวิทย์ ทับทิมอ่อน นายชัยชาญ ชโลธร และข้าราชการที่รอรับเสด็จฯ สรุปดังนี้ 1. การปลูกหญ้าแฝก ถ้าปลูกแนวชิดกันมากๆ หรือปลูกรอบโคนไม้ผลเป็นแบบวงกลม ถ้าปลูกใกล้ต้นไม้มากเกินไป จะทำให้ต้นไม้ขาดน้ำเพราะหญ้าแฝกใช้น้ำมากและน้ำจะซึมหารากไม้ผลได้ยาก เพราะรากหญ้าแฝกกั้นไว้ ที่ปลูกไว้เป็นครึ่งวงกลมและกอชิดกันนั้นถูกต้องแล้ว (งานวิชาการเกษตรสวนสมเด็จฯ) 2. บริเวณพื้นที่ปลูกป่าเชิงเขาทองอย่าทำแบบปอกเปลือกปุ๋ยจากเขาจะลงมา ดินและน้ำจากเขาจะลงมา ควรต่อขยายแนวหญ้าแฝกออกไปอีก ควรปลูกเป็นรูปตัววีคว่ำ (∧) ในไม่ช้าก็จะเต็มร่อง ในที่เป็นร่องน้ำลึกควรทำคันดินหรือคันหินขวางน้ำก่อน เพื่อทำเป็นทำนบเล็กๆ (Check Dam) อย่าปลูกลงไปในร่องน้ำโดยตรง นอกจากนั้นพื้นที่ระหว่างแถวหญ้าแฝกที่เป็น Contour ดินจะมีคุณภาพดีขึ้น น่าจะให้เกษตรกรปลูกพืชล้มลุก
ทั้งนี้ การปลูกหญ้าแฝกโดยใช้สว่านเจาะดิน ซึ่งได้ใช้สว่านเจาะดินแบบมือหมุน เจาะเป็นบางส่วนที่เขาชะงุ้ม ขุดให้เป็นร่อง เพื่อให้รากหญ้าแฝกชอนไชไปในดิน
- วิธีการปลูกหญ้าแฝกแซมในช่องว่างแนวรั้วหญ้าแฝกในพื้นที่ดินดาน ให้ใช้สว่านเจาะตามแนวช่องว่าง โดยใส่ปุ๋ยหมักลงไปตามร่อง - ควรใช้กรรไกรตัดหญ้าแฝกให้มีความสูงประมาณ 30 ซม. ดินที่อยู่ระหว่างแถวหญ้าแฝกจะอุดมสมบูรณ์เต็มไปด้วยธาตุอาหาร ซึ่งควรปลูกพืชล้มลุกหรือไม้ผลแซม 3. ทรงสาธิตวิธีการปลูกหญ้าแฝกเพื่อแก้ไขช่องว่างระหว่างแนวรั้วหญ้าแฝก โดยการขุดเป็นร่องตามแนวช่องว่าง และใช้ดินผสมปุ๋ยหมักใส่ในร่องแล้วปลูกหญ้าแฝกให้ชิดติดกันระยะห่างไม่เกิน 5 ซม. ตามแนวช่องว่างแล้วให้ตัดใบหญ้าแฝกหัวท้ายช่องว่างให้เหลือ 30 ซม.เพื่อให้หญ้าแฝกที่ปลูกใหม่ได้รับแสงแดด ควรให้น้ำอย่างสม่ำเสมอจนกว่าหญ้าแฝกจะตั้งตัวได้ ดินที่ทับถมเหนือแนวรั้วหญ้าแฝกเป็นดินที่ดีมาก ดินลึกถึง 35 ซม. ขอให้เร่งรัดหญ้าแฝกแก้ไขช่องว่างเพื่อให้แนวรั้วหญ้าแฝกมีประสิทธิภาพจะเป็นการช่วยให้ดินดียิ่งขึ้น
วันที่ 3 เมษายน 2540
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรการดำเนินงานโครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ดังนี้ - ให้หาวิธีเจาะลงไปในชั้นดินดานแล้วนำดินที่มีความร่วนซุยใส่ลงไปในหลุมสำหรับปลูกหญ้าแฝก เพื่อให้รากหญ้าแฝกสามารถทะลุดินดานไปได้ หญ้าแฝกจะนำความชื้นไประเบิดดินให้ร่วนซุยมากขึ้น - ให้ทดลองปลูกหญ้าแฝกเป็นแถวตามแนว Contour ระยะห่างระหว่างต้นประมาณ 5 ซม. เพื่อป้องกันการชะล้างของหน้าดินและช่วยทำให้เกิดหน้าดินมาทับถมกันบริเวณแนวรั้วหญ้าแฝกซึ่งต่อไปจะใช้ดินทำการเพาะปลูกได้ - การปลูกหญ้าแฝกล้อมรอบต้นไม้ควรปลูกแบบฮวงซุ้ย (ครึ่งวงกลม) เพื่อช่วยเก็บกักความชื้นให้แก่ต้นไม้ 2. จุดเสด็จฯ ที่ 2 งานอนุรักษ์ดินและน้ำบริเวณลุ่มน้ำเขาบ่อขิงทรงมีพระราชดำริ ดังนี้ - ให้ปลูกป่าและหญ้าแฝกตามแนว Contour เมื่อเวลาฝนตกลงมา จะพัดพาเศษใบไม้มาติดอยู่ที่แนวหญ้าแฝกเป็นการทำให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์ โดยกรมป่าไม้มีหน้าที่ปลูกป่าและกรมพัฒนาที่ดินมีหน้าที่ปลูกหญ้าแฝก ซึ่งศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายฯ จะเป็นหน่วยงานกลางที่ให้ทั้ง 2 หน่วยงานร่วมกันประสานดำเนินการ
วันที่ 23 เมษายน 2540
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรการดำเนินงานโครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนฯ มีพระราชดำริ สรุปดังนี้
1. จุดเสด็จฯ ที่ 1 บนสันเขื่อนอ่างเก็บน้ำห้วยเจ๊ก มีพระราชดำริ ดังนี้ เรื่องการปลูกหญ้าแฝกรอบขอบแนวป่าไม้เพื่อป้องกันการชะล้างพังทลายของหน้าดิน เศษใบไม้ที่ร่วงหล่นจะช่วยทำให้ดินมีการพัฒนาที่ดีขึ้น เมื่อใบไม้ย่อยสลาย ส่วนหญ้าแฝกที่ปลูกในระหว่างไม้ยืนต้นจะไม่ตาย แต่ชะงักการเจริญเติบโตระยะหนึ่ง เมื่อมีการตัดไม้ออกแฝกก็จะเจริญได้อีกครั้ง ให้ปลูกหญ้าแฝกในดินดาน โดยระเบิดดินดานเป็นหลุมแล้วปลูกหญ้าแฝกลงในหลุมเพื่อดันชั้นดินดานให้แตกสามารถดักตะกอนตลอดจนใบไม้ทำให้เกิดดินใหม่ขึ้น 2. จุดเสด็จฯ ที่ 2 ณ ศาลาทรงงานบริเวณอุทยานมัจฉา มีพระราชกระแสกับผู้อำนวยการ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนฯ ดังนี้ - ให้ศึกษาการปลูกหญ้าแฝกในดินดานของตำบลเขาหินซ้อน ซึ่งได้เคยให้ทำในดินดานที่เขาชะงุ้ม (โครงการศึกษาวิธีการฟื้นฟูที่ดินเสื่อมโทรมเขาชะงุ้มฯ อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี) และห้วยทราย (ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายฯ อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี) มาแล้ว
วันที่ 9 พฤษภาคม 2540
วันพืชมงคล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนิน พร้อมด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ไปยังแปลงนาสาธิตในสวนจิตรลดาและได้พระราชทานพระราชดำริ แก่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (นายชูชีพ หาญสวัสดิ์) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ของกระทรวงเกษตรฯ ในเรื่องอนุรักษ์ดิน สรุปดังนี้
- การอนุรักษ์ดินก็ต้องดำเนินการควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ฟื้นฟูป่าไม้ นอกเหนือจากการแก้ไขปัญหาดินเปรี้ยวตามที่พระราชทานพระราชดำริแล้ว การอนุรักษ์ดินด้วยหญ้าแฝกต้องทำให้กว้างขวางเพื่อป้องกันและรักษาหน้าดินไม่ให้สูญหาย ได้ทดลองทำครั้งแรกที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายฯ และที่โครงการเขาชะงุ้มฯ ด้วย ตลอดจนเข้าไปดำเนินการเป็นตัวอย่างที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาฯ อีกหลายแห่ง จึงขอให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์พิจารณาดำเนินการในบริเวณที่จะฟื้นฟูและอนุรักษ์ดินและน้ำในพื้นที่เสื่อมโทรมต่างๆ ด้วย
วันที่ 24 กรกฎาคม 2540
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ณ อาคารจักรพันธ์เพ็ญศิริ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และพระราชทานพระบรมราโชวาท ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับหญ้าแฝก ขออัญเชิญมาไว้ ณ ที่นี้
"...บัณฑิตทุกคนควรจะได้สนใจสังเกตศึกษาเรื่องราว บุคคลและสิ่งต่างๆ ที่แวดล้อมและ เกี่ยวข้องกับตัวเองให้มาก อย่าละเลยหรือมองข้ามแม้สิ่งเล็กน้อย เช่น ต้นหญ้า ซึ่งถ้าศึกษาพิจารณาให้ดีก็จะก่อให้เกิดปัญญาได้ หญ้านั้นมีทั้งหญ้าที่เป็นวัชพืชซึ่งเป็นโทษและหญ้าที่มีคุณอย่างหญ้าแฝก ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างยิ่งแก่การอนุรักษ์ดินและน้ำ เพราะมีรากที่หยั่งลึกแผ่กระจายลงไปตรงๆ ทำให้อุ้มน้ำและยึดเหนี่ยวดินได้มั่นคงและมีลำต้นชิดติดกันแน่นหนา ทำให้ดักตะกอนดินและรักษาหน้าดินได้ดี..."
วันที่ 25 กรกฎาคม 2540
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ณ อาคารจักรพันธ์เพ็ญศิริ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และพระราชทานพระบรมราโชวาท ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับหญ้าแฝก ขออัญเชิญมาไว้ ณ ที่นี้
"...สิ่งที่ดีมีประโยชน์นั้นจะต้องใช้ให้ถูกต้องตามหลักวิชาและเหมาะสมกับสภาพการณ์ทั่วไป ด้วย จึงจะได้ผลที่พึงประสงค์ อย่างเช่น การปลูกหญ้าแฝกจะต้องปลูกให้ชิดติดกันเป็นแผงและวางแนวให้เหมาะสมกับลักษณะภูมิประเทศ เป็นต้นว่าบนพื้นที่สูงจะต้องปลูกตามแนวขวางของความลาดชันและร่องน้ำ บนพื้นที่ราบจะต้องปลูกรอบแปลงหรือปลูกตามร่องสลับกับพืชไร่ ในพื้นที่เก็บกักน้ำจะต้องปลูกเป็นแนวเหนือแหล่งน้ำ หญ้าแฝกที่ปลูกโดยหลักวิธีดังนี้ จะช่วยป้องกันการ พังทลายของหน้าดินรักษาความชุ่มชื้นในดินเก็บกักตะกอนดินและสารพิษต่างๆ ไม่ให้ไหลลง แหล่งน้ำ ซึ่งจะอำนวยผลเป็นประโยชน์อย่างยิ่งแก่การอนุรักษ์ดินและน้ำ ตลอดจนการฟื้นฟูดินและป่าไม้ให้สมบูรณ์ขึ้นบัณฑิตผู้จะออกไปเริ่มต้นชีวิตการงานต่อไป จึงควรจะได้ศึกษาพิจารณาเรื่องความถูกต้องเหมาะสมที่กล่าวนี้ให้ทราบชัด..."
วันที่ 23 มิถุนายน 2541
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรการดำเนินงานโครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี
“...ปลูกหญ้าแฝกเพื่อที่จะให้ดินนั้นพัฒนาขึ้นมาเป็นดินที่สมบูรณ์ โดยที่ปลูกหญ้าแฝกและทำคันกั้นไม่ให้ตะกอนเหล่านั้นไหลลงไปในห้วยก็สามารถฟื้นฟูได้อย่างดี หากว่าไม่ปฏิบัติเช่นนี้ ดินนั้นจะหมดไปเลยเหลือแต่ดินดานและทรายและดินที่อาจเป็นดินสมบูรณ์ก็ไหลลงไปในห้วย ทำให้ห้วยตื้นเขิน เมื่อห้วยตื้นเขิน น้ำที่ลงมาจากภูเขาก็ท่วมในที่ราบและน้ำที่ลงมาจากเขาจะลงมาโดยเร็วเพราะภูเขามีต้นไม้น้อย ทำให้น้ำลงมารวมอย่างฉับพลันและท่วม...”
วันที่ 14 กรกฎาคม 2541
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรการดำเนินงานโครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี พร้อมทั้งได้พระราชทานพระราชดำริเกี่ยวกับหญ้าแฝก ความตอนหนึ่งว่า
“...ข้อสำคัญที่มาเพราะว่าที่ดินในเมืองไทยมันมีน้อยลงที่จะใช้งานได้ จึงต้องหาที่เลวๆ ให้พัฒนาขึ้นเป็นที่ที่ใช้ได้ และให้ความสำคัญของโครงการนี้เป็นยังไง ต้องลงมือหลายฝ่ายกรมพัฒนาที่ดินและกรมป่าไม้ศึกษา และถ้าทำได้แล้วเมืองไทยนี้ไม่อับจน...”
“...หญ้าแฝกนี้จะกักน้ำและปุ๋ยที่มาจากภูเขา ภูเขาเป็นเครื่องปฏินกรณ์น้ำและปุ๋ยไม่ต้องเอาปุ๋ยที่ไหน พัฒนาดินก็สบาย ก็อาศัยชลประทานแล้วก็ป่าไม้...”
“...เราจะสร้างของดีซ้อนบนของเลวนั่น อย่าไปนึกไปใช้ดานอันนี้เพราะดานอันนี้ไม่มีอาหารและแข็งเหลือเกิน ต้องสร้างผิวดินใหม่ขึ้นมา หญ้าแฝกเราเจาะดินลงไปแล้วเอาดินที่มีอาหารลงไป หญ้าแฝกก็สามารถชอนไชอยู่ได้ แล้วหญ้าแฝกนั้นเวลาน้ำฝนชะมาจากภูเขาจะชะใบไม้มาติด หญ้าแฝกก็จะเป็นดินที่ใช้ได้ ดินนี้จะเพิ่มขึ้นไป แล้วก็ดินนี้นานไปจะเป็นดิน...”
วันที่ 20 เมษายน 2543
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรการดำเนินงานโครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี พร้อมทั้งได้พระราชทานพระราชดำริเกี่ยวกับหญ้าแฝก ความตอนหนึ่งว่า
1. ให้ทดลองปลูกไม้สาธรร่วมกับหญ้าแฝกต่อไปและทำการศึกษากับไม้ชนิดอื่นๆ ว่า ชนิดใดจะเหมาะสมกับพื้นที่ดินดานได้ดี 2. การแก้ไขดินเลวโดยวิธีทางธรรมชาติ โดย 1) ปลูกหญ้าแฝกเพื่อให้ดินดานแตกตัวจะทำให้น้ำซึมผ่านไปได้ 2) ปลูกต้นไม้ควบคู่กับการปลูกหญ้าแฝก ต้นไม้จะเจริญเติบโตในดินดานได้ เนื่องจากแฝกให้น้ำและช่วยดึงไนโตรเจน
วันที่ 12 เมษายน 2544
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้มีพระราชดำรัสกับ ม.ร.ว.แซม แจ่มจรัส รัชนี เจ้าหน้าที่โครงการหลวง ณ โครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา กรุงเทพฯ สรุปดังนี้
1. การนำร่องการใช้หญ้าแฝกกับดินเหนียวในการก่อสร้างยุ้งฉางราคาถูกเป็นตัวอย่างแก่กสิกรรมในชนบท ให้ทำการทดลองเก็บข้าวเปลือกจริงเพื่อพิจารณาลู่ทางการควบคุมความร้อนที่เกิดจากการเก็บเมล็ดข้าวเปลือกในยุ้งฉางแบบนี้และให้ใช้หลังคายุ้งฉางแบบบ้านของชาวเอสกิโม (Igloo) เพื่อแก้ไขปัญหาความร้อนและความชื้นที่จะเกิดขึ้นจากการเก็บข้าวเปลือกและให้มีการศึกษาเพื่อการป้องกันความเสียหายของพื้นผิวภายนอกของยุ้งฉางเมื่อถูกความชื้น 2. ให้ศึกษาเรื่องหญ้าแฝกและสกัดสาระสำคัญมาเพื่อใช้ในการควบคุมป้องกันกำจัดปลวกให้มีการศึกษาการพัฒนาเยื่อหญ้าแฝกให้ปลวกไม่สามารถทำลายได้ โดยการพิจารณากำจัดสารที่เป็นอาหารของปลวกเสียตั้งแต่ต้นจะได้ไม่มีปัญหาเมื่อนำไปประยุกต์ใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรม 3. การใช้หญ้าแฝกเป็นวัสดุแทนไม้ในอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์และตกแต่งภายใน โดยให้มีการศึกษาความคงทนของแผ่นไม้อัดหญ้าแฝกต่อสภาพการทำลายของปลวกและการศึกษาเพื่อหาวัสดุภายในประเทศ เพื่อทดแทนการนำเข้าวัสดุที่เป็นตัวประสานจากต่างประเทศ 4. การใช้หญ้าแฝกเป็นวัสดุก่อสร้างทางวิศวกรรมที่ประหยัด ปลอดมลภาวะประหยัด พลังงาน ชาวบ้านสามารถทำได้เองโดยเถ้าหญ้าแฝก สัดส่วนการใช้เถ้าหญ้าแฝกเป็นวัสดุทดแทนซีเมนต์และผลที่ได้รับโดยเน้นเรื่องความแข็งแรง ความทนทาน ส่วนการประยุกต์ใช้เยื่อหญ้าแฝกเป็นวัสดุเสริมแรงสัดส่วนการใช้เถ้าหญ้าแฝกโดยเน้นเรื่องการพัฒนาให้มีคุณสมบัติที่ดีกว่าและทดแทนการใช้วัสดุสังเคราะห์ 5. การแสดงแบบจำลองการเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติทางชลศาสตร์ของการไหลลักษณะการกัดเซาะและการกักเก็บตะกอนของระบบแถบหญ้าแฝก ดังนี้ 1) ให้มีการขยายแบบจำลองจากแบบจำลองแสดงแนวคิดเป็นแบบจำลองที่สามารถเก็บข้อมูลได้ถูกต้องและเป็นที่ยอมรับทางวิศวกรรม รวมทั้งให้มีการทดสอบเพื่อยืนยันข้อมูลในภูมิประเทศจริงด้วย 2) ให้นำข้อมูลที่ได้รับจากแบบจำลองไปประยุกต์ใช้แถบหญ้าแฝกเพื่อลดความเสียหายจากการเกิดอุทกภัยในพื้นที่เกษตรกรรม 3) ให้มีการศึกษาการใช้แถบหญ้าแฝกและพืชพันธุ์ลดหรือป้องกันสารไนเตรท จากการทำการเกษตรซึมซับลงในดิน ลงไปปนเปื้อนกับแหล่งน้ำใต้ดินในระดับล่าง 4) การใช้ความชุ่มชื้นของแถบหญ้าแฝกลดหรือป้องกันความเสียหายที่เกิดจากไฟป่า 5) รูปแบบการส่งเสริมการปลูกหญ้าแฝกเป็นพืชรายได้แบบครบวงจร โดยเน้นการจัดกลุ่มกสิกรรมเพื่อให้สามารถควบคุมปริมาณ คุณภาพและสายพันธุ์ที่กำหนดได้ เพื่อเป็นการแยกออกจากการส่งเสริมการปลูกเพื่อป้องกันรักษาดิน โดยให้ระมัดระวังการปลูกแยกจากระบบอนุรักษ์ ซึ่งแฝกเป็นพืชที่มีรายได้สู่เกษตรกรก็ให้ทำไปโดยให้วิจัยเพื่อลดต้นทุนการผลิตลง ในการลดต้นทุนการผลิตให้ขยายพันธุ์โดยใช้ Tiller ที่แยกออกมา 6) แนวทางการใช้เยื่อหญ้าแฝกเป็นอุตสาหกรรมภาชนะเมลามีน โดยให้มีการพิจารณาผลิตภาชนะหรือเครื่องใช้ที่เหมาะสมกับสีตามธรรมชาติของเยื่อหญ้าแฝก และให้พิจารณาจดสิทธิบัตรผลิตภัณฑ์ภาชนะเมลามีนจากเยื่อหญ้าแฝกได้ 7) ลู่ทางการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาผลงานวิจัยค้นคว้าและผลิตภัณฑ์หญ้าแฝกของมูลนิธิโครงการหลวง ดังนี้ - ให้คณะทำงานวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีหญ้าแฝก เร่งรัดการดำเนินการตามที่ได้คิดริเริ่มไว้ต่อไป เพราะมีคุณค่าและเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม - ผลงานใดที่สามารถดำเนินการจดสิทธิบัตรได้ ขอให้คณะทำงานสิทธิบัตรหญ้าแฝก รีบดำเนินการเพื่อจะได้เป็นทรัพย์สินของแผ่นดินต่อไปในภายหน้า
วันที่ 13 กันยายน 2545
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำรัสกับ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ณ วังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ความว่า
“...ในการก่อสร้างขนาดใหญ่ ต้องมีการปรับปรุงเปิดพื้นที่เป็นอันมาก โดยเฉพาะพื้นที่เชิงเขา ควรที่จะต้องมีการใช้หญ้าแฝกปลูกเป็นพืชนำเพื่อฟื้นคืนสภาพพื้นที่และภูมิทัศน์และความอุดมสมบูรณ์ให้กับพื้นที่นั้นอย่างได้ผล...”
วันที่ 16 พฤศจิกายน 2545
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้มีพระราชดำริ ณ โครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ สรุปดังนี้
1. ควรปลูกหญ้าแฝกก่อนหรือพร้อมกับปลูกป่าโดยเฉพาะที่ลาดชัน โดยต้องปลูกให้ถูกวิธี คือขวางแนวลาดชันเพราะในแผนที่ ปตท. แสดงการปลูกป่าจะเป็นแนวลงมาเหมือนที่ชาวเขาปลูกกะหล่ำ โดยให้สังเกตที่ลำห้วยด้านล่างภูเขาจะเห็นดินลงไปกองอยู่เต็ม 2. ควรปลูกหญ้าแฝกเป็นแนวกันไฟป่าของแปลงปลูกป่า เพราะการปลูกป่าของหน่วยงานต้องมีเจ้าหน้าที่หน่วยดับไฟ ต้องใช้รถจักรยานยนต์เพื่อตรวจป่า ขอให้ใช้วิธีปลูกหญ้าแฝกเป็นแนวเพราะหญ้าแฝกนั้นต่างกับหญ้าคาซึ่งหน้าแล้งจะแห้งติดไฟง่าย แต่หญ้าแฝกหน้าแล้งจะเขียวเพราะมีรากลึกดูดความชื้นตลอดเวลาจะเป็นแนวกันไฟโดยธรรมชาติ
วันที่ 22 พฤศจิกายน 2545
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้มีพระราชดำริกับ ฯพณฯ นายอำพล เสนาณรงค์ องคมนตรี และคณะกรรมการบริหารสภาวิจัยแห่งชาติและคณะวิจัย ณ ศาลาเริง วังไกลกังวลอำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ สรุปดังนี้
หญ้าแฝกเป็นพืชเอนกประสงค์ที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างแพร่หลาย นอกจาก คุณประโยชน์หลักของหญ้าแฝกที่ใช้ปลูกเพื่อป้องกันการชะล้างพังทลายของดิน และช่วยฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของดินแล้ว รากของหญ้าแฝกที่แผ่หยั่งลึกลงไปในดินยังช่วยดูดซับสารพิษที่ปนเปื้อนมากับน้ำที่ไหลผ่าน อีกทั้งคุณสมบัติพิเศษของกอและใบหญ้าแฝกที่ปลูกล้อมรอบพื้นที่เกษตร ยังมีส่วนช่วยในการป้องกันปลวกและหนูไม่ให้เข้ามาทำความเสียหายให้กับพืชและผลิตผลในพื้นที่นั้นๆ รวมทั้งใช้ป้องกันงูได้อีกด้วย
ปลวกมีหลายชนิดบางชนิดก็ทำลายบ้านเรือน แต่หลายชนิดก็มีประโยชน์ทำให้ดินดีและปลวกที่กินหญ้าแฝกยังไม่ตายทันที เพียงแต่ทำให้ปวดท้องเท่านั้น
การปลูกแฝกเพื่อเป็นแนวกันไฟ เป็นประโยชน์ที่สำคัญอีกประการหนึ่งของหญ้าแฝกที่จะช่วยลดความเสียหายจากไฟป่า ไม่ว่าจะเป็นในป่าปลูกหรือป่าธรรมชาติ
ควรปลูกแฝกก่อนหรือร่วมกับแปลงปลูกไม้ยืนต้น โดยเฉพาะบนภูเขาจะช่วยป้องกันการชะล้างดินและป้องกันไฟป่าได้เพราะแฝกทนไฟ ใบจะสดตลอดปีและรากที่หยั่งลึกลงในดินจะช่วยดูดความชื้นไว้ ดังนั้น การปลูกแฝกเพื่อเป็นแนวกันไฟจะช่วยป้องกันไฟป่าในฤดูแล้งได้
การปลูกยูคาลิปตัสและสนบนภูเขา มักเกิดไฟไหม้ทุกปีควรพิจารณาปลูกแฝกร่วม
การนำใบหญ้าแฝกมาอัดเป็นแผ่นและนำไปใช้ประโยชน์ทดแทนไม้จริงจะช่วยลดการนำเข้าไม้ รวมทั้งลดการตัดไม้ทำลายป่าลงได้ แต่เนื่องจากกรรมวิธีการผลิตแผ่นแฝกอัดใช้กาว ซึ่งต้องนำเข้าจากต่างประเทศมีราคาแพง ควรมีการศึกษาเพื่อพัฒนาใช้กาวซึ่งผลิตขึ้นภายในประเทศที่มีคุณภาพดีและราคาถูกเพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายของประเทศ
การนำรากหญ้าแฝกมาสกัดน้ำมันหอมระเหย ถึงแม้ว่ามีราคาแพงควรมีการศึกษาพัฒนาเกี่ยวกับการปลูกแฝกเพื่อผลิตโดยเฉพาะ ไม่ควรมีการขุดกอแฝกเพื่อนำรากมาใช้ในการนำไปสกัดน้ำมันหอมระเหย
สำหรับใบแฝกที่นำมาใช้เป็นวัตถุดิบนั้น ควรมีการศึกษาด้วยว่าหากมีการส่งเสริมและดำเนินการในระดับอุตสาหกรรม แล้วจะมีวัตถุดิบเพียงพอหรือไม่ โดยปกติหญ้าแฝกจะมีใบมากและมีการเจริญเติบโตได้เร็ว ควรมีการศึกษาให้มีการนำใบไปใช้อย่างเหมาะสมไม่ให้เกิดผลกระทบกับวัตถุประสงค์หลักคือการใช้หญ้าแฝกเพื่อป้องกันการชะล้างและการพังทลายของดิน ดังนั้นหากจะใช้เพื่อวัตถุประสงค์อื่นควรพิจารณาเตรียมพื้นที่ เพื่อการปลูกโดยเฉพาะและควรวิจัยการนำวัตถุดิบอื่นที่เหมาะสมมาเป็นส่วนผสมในการทำแผ่นไม้อัดด้วย
หญ้าแฝกเป็นพืชเอนกประสงค์ที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างแพร่หลาย นอกจาก คุณประโยชน์หลักของหญ้าแฝกที่ใช้ปลูกเพื่อป้องกันการชะล้างพังทลายของดิน และช่วยฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของดินแล้ว รากของหญ้าแฝกที่แผ่หยั่งลึกลงไปในดินยังช่วยดูดซับสารพิษที่ปนเปื้อนมากับน้ำที่ไหลผ่าน อีกทั้งคุณสมบัติพิเศษของกอและใบหญ้าแฝกที่ปลูกล้อมรอบพื้นที่เกษตร ยังมีส่วนช่วยในการป้องกันปลวกและหนูไม่ให้เข้ามาทำความเสียหายให้กับพืชและผลิตผลในพื้นที่นั้นๆ รวมทั้งใช้ป้องกันงูได้อีกด้วย
วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2546
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้มีกระแสพระราชดำรัสกับหม่อมราชวงศ์ แซมแจ่มจรัส รัชนี และคณะทำงานโครงการพัฒนาหญ้าแฝกเพื่อเป็นพืชเศรษฐกิจโครงการหลวง ณ ศาลาเริง วังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ สรุปดังนี้
เบิก นายวีระชัย ณ นคร ผู้อำนวยการองค์การสวนพฤกษศาสตร์ นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ ด้านสายพันธุ์หญ้าแฝก เพื่อถวายรายงานเกี่ยวกับชนิดพันธุ์และสายพันธุ์หญ้าแฝกที่พบในประเทศ และแนวทางการคุ้มครองสายพันธุ์หญ้าแฝกในประเทศไทย
นายวีระชัยฯ ได้ถวายรายงานสรุปความเป็นมาของการศึกษาเกี่ยวกับชนิดพันธุ์และสายพันธุ์หญ้าแฝก ตั้งแต่ที่ได้พระราชทานพระราชดำริ ให้นำหญ้าแฝกมาใช้ในการอนุรักษ์ดินและน้ำตั้งแต่ปี พ.ศ. 2534 มีผลการดำเนินงานศึกษาสนองพระราชดำริของสำนักงาน กปร. ในปี พ.ศ. 2535 ว่าประเทศไทยมีหญ้าแฝกเพียง 2 ชนิด คือ หญ้าแฝกหอมและหญ้าแฝกดอน
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีรับสั่งถามว่า สายพันธุ์หญ้าแฝกของไทยที่ได้ถวายรายงานมาทั้งหมดนั้น มีการจดสิทธิบัตรไว้แล้วบ้างหรือไม่ เพราะได้ทราบว่า Dr. Yoon ชาวมาเลเซีย ได้ดำเนินการจดสิทธิบัตรชนิดหญ้าแฝกต่างๆ ไว้แล้วเกือบทั้งหมด
นายวีระชัยฯ : กราบบังคมทูลว่า ของไทยยังไม่ได้มีการจดสิทธิบัตรไว้แต่ประการใด
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว : ต้องรีบดำเนินการจดสิทธิบัตรสายพันธุ์หญ้าแฝกของไทยไว้ทั้งหมด ก่อนที่จะมีใครมานำไปใช้ประโยชน์ และให้รีบศึกษาหาวิธีดำเนินการ แม้แต่ชนิดที่ไม่เหมาะสมที่จะนำไปใช้ก็ต้องจดไว้ด้วย เพื่อป้องกันไม่ให้ใครนำไปใช้อย่างผิดๆ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว : เท่าที่ทราบมา ขณะนี้กล้าหญ้าแฝกยังมีไม่พอต่อการนำไปใช้ประโยชน์ เมื่อมีคนไปขอจากกรมพัฒนาที่ดิน ก็ไม่มีให้ ทำให้ไม่มีการนำไปใช้ จะไปขอจากหน่วยงานไหนก็ไม่มี ดังนั้น ก่อนอื่นอันเป็นพื้นฐานสำคัญประการแรก จะต้องทำให้มีกล้าแฝกเพียงพอต่อการจ่ายแจกให้ชาวบ้านได้นำไปใช้ประโยชน์แล้ว จึงดำเนินการหาประโยชน์ด้านอื่น ดังเช่นที่ได้นำมาแสดงอยู่นี้
ม.ร.ว.แซมแจ่มจรัส รัชนี : ขอเบิก นายอรรถ สมร่าง อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน เพื่อมารับฟังพระราชกระแส
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว : กรมพัฒนาที่ดิน มีหน้าที่พัฒนาปรับปรุง บำรุงดิน ให้มีความอุดมสมบูรณ์ หญ้าแฝกเป็นพืชตัวหนึ่งที่จะสามารถช่วยได้ ก็ให้ดำเนินการทำให้มีกล้าหญ้าแฝกเพียงพอด้วย
อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน : ขณะนี้กรมพัฒนาที่ดินก็ได้ดำเนินการอยู่แล้ว ตามศูนย์พัฒนาที่ดินทั่วประเทศ และยังมีโครงการหมอดินอาสาช่วยชี้แจงชาวบ้านในการปลูกพืชต่างๆ ด้วย
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว : ต้องให้ชาวบ้านมีความเข้าใจและมีแฝกให้เขาปลูกเพียงพอ ขณะนี้ไม่เพียงพอ ยังขาดอีกมาก หากยังไม่มีกล้าพอ จะปลูกไปทีละสิบเมตร ห้าสิบเมตร ร้อยเมตรก็ได้ แล้วขยายจากที่นั่นไปปลูกได้อีกไม่นานก็จะเต็มพื้นที่
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว : การนำหญ้าแฝกไปใช้ประโยชน์ดังที่จัดแสดงไว้หลากหลายนี้ ไม่ใช่ว่าไม่ดี หรือไม่น่าสนใจ แต่เห็นว่าควรที่จะดำเนินการขยายพันธุ์ให้มีเพียงพอก่อน แล้วจึงดำเนินการด้านอื่นเพราะหลักที่เป็นหัวใจของการใช้แฝกนั้นก็คือ การนำไปใช้ป้องกันการชะล้างพังทลายของดิน ปรับปรุงดิน แฝกจะช่วยยึดดิน รากก็ช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นในดิน
ม.ร.ว.แซมแจ่มจรัส รัชนี : ขอเบิกท่านรัฐมนตรี นายอดิศัย โพธารามิก ที่ได้เข้าเฝ้าอยู่ ณ ที่นี้ด้วย เพื่อรับสนองพระราชดำริ ในฐานะตัวแทนรัฐบาล
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว : ฝากถึงท่านนายกรัฐมนตรีในฐานะที่ท่านเป็นตัวแทนของรัฐบาล ว่าให้ช่วยสนับสนุนโครงการหญ้าแฝกด้วย เพราะจะยังให้เกิดผลดีโดยรวมต่อผืนแผ่นดินทั้งประเทศ ในวันข้างหน้า
น้ำที่น้ำตกห้วยแก้วนั้น ขณะนี้ได้รับแจ้งว่าไหลแล้วไม่แห้ง แต่น้ำที่อื่นโดยรอบ ยังพากันแห้งหายหมด ความชื้นลดลงเพราะป่าถูกทำลาย หน้าดินเปิดสูญเสียไปมาก จะฟื้นคืนให้ได้ถาวรก็ต้องใช้หญ้าแฝกเข้าไปช่วยด้วย
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว : ได้เคยไปเยี่ยมโรงเรียนแห่งหนึ่งและพบว่ามีแฝกกอใหญ่ขึ้นอยู่สูงเกือบ 3 เมตร ซึ่งครูและนักเรียนพากันภาคภูมิใจ แต่ที่จริงแสดงว่าเขาไม่ทราบ ไม่รู้ว่ามันใช้ประโยชน์ไม่ได้ จะใช้ได้ต้องแยกเอามาปลูก ให้เป็นแถวเป็นแนวจึงจะเกิดผล
การปลูกหญ้าแฝก จะต้องปลูกให้ถูกต้องด้วย ไม่ให้มีความห่างมากเกินไป จนเป็นช่อง ก็จะไม่สามารถกั้นน้ำ กักตะกอนดินฮิวมัสต่างๆ ไว้ได้ และเมื่อปลูกเป็นชั้นๆ ตามเนิน จะช่วยเป็นกำแพงกั้นน้ำที่ไหลบ่าลงมาได้ ที่เห็นว่าเหมาะสมก็คือความห่างประมาณ 5 ซม. ซึ่งเมื่อแฝกเติบโตก็จะขยายออกมาชนกันเป็นแถวแน่น มีประสิทธิภาพ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว : ที่บ้านหนองพลับ บ้านแขก ห้วยทรายและเขาชะงุ้ม ไปปลูกทดลองมาหมดแล้วเป็นดินกรวดแดง ดินลูกรังและดินดาน ต้องใช้ชะแลงแทงเจาะลงไปปลูกอะไรก็ไม่ได้ แต่สามารถปลูกแฝกได้และรากแฝกก็เจาะดินลงไปชั้นล่างได้ ต่อมาก็เกิดเป็นดินดำขึ้นปลูกพืชอื่นได้ ดร. เคยไปดูหรือไม่
ม.ร.ว.แซมแจ่มจรัส รัชนี : โครงการหลวงได้มอบหมายให้ ดร.อำพรรณฯ จากมหาวิทยาลัย เชียงใหม่ ทำโครงการเพิ่มจุลินทรีย์ในวัสดุดินที่ปลูกแฝก เพิ่มคุณค่าธาตุอาหารให้พืช ทดลองปลูกไว้ไม่นานได้กอโตมากกว่าธรรมดาชัดเจน
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว : ที่ป่าพรุ จังหวัดนราธิวาส มีการพัฒนาที่รอบนอกพรุ พื้นที่เป็นดินเปรี้ยว ทางชลประทานทดลองปรับปรุงดินหลายวิธีไม่ได้ผล แต่เมื่อปลูกแฝกเป็นแนวตามคันคลองกันน้ำเปรี้ยว ค่อยเป็นค่อยไป เดี๋ยวนี้ปลูกข้าวได้แล้ว
ที่เขาหินซ้อนแต่ก่อนก็เป็นดินที่แย่มาก ไม่มีใครจะปลูกอะไรได้ ก็เลยไม่มีใครไปอยู่ ได้ไปซื้อไว้ราคาถูกๆ ให้มีการทดลองปลูกแฝกด้วย เดี๋ยวนี้มีตัวอย่าง เมื่อดินดี ปลูกอะไรก็ได้ ที่ดินตอนนี้ราคาแพงมาก ซื้อไม่ได้เลย
แฝกยังช่วยกักเก็บไนโตรเจน เพราะพืชดูดน้ำไปใช้ได้ ไนโตรเจนหากซึมลงไปใต้ดินหรือ รั่วไหลลงไปในแหล่งน้ำก็จะเกิดปฏิกิริยาเป็นสารพิษ ยากแก่การกำจัด ดังนั้นจึงนำไปใช้ช่วยด้าน สิ่งแวดล้อมได้ (เข้าใจว่า หมายถึง สารประกอบของไนโตรเจน คือ ไนไตร - NO2 และ ไนเตรท - NO3 และมีการทดลองแล้วที่คุ้งกระเบน)
โดยหลักการแฝกน่าจะช่วยกันไฟได้ ในหน้าแล้งหญ้าคาจะแห้งไปหมดและติดไฟง่าย แต่แฝกมีรากยาวลึก หาน้ำได้ จึงยังเขียวอยู่ ไม่แห้ง และไม่เป็นเชื้อไฟ
แล้วแฝกพันธุ์ทนเค็มที่ว่า (ดร.วีระชัยฯ : พันธุ์หว้ากอ) และที่เด่นๆ จะต้องจดสิทธิบัตรไว้ ขยายพันธุ์ให้มากๆ หน่วยต่างๆ จะได้ช่วยกันศึกษาด้วย
ม.ร.ว.แซมแจ่มจรัส รัชนี : ขณะนี้โครงการหลวงได้มอบหมายให้ ภาควิชาพฤกษศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เร่งขยายพันธุ์แฝกให้ได้ปริมาณมาก โดยวิธีทิชชูคัลเจอร์แล้ว
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว : ทิชชูคัลเจอร์ก็ดี แต่ต้องระวังหากทำไปมากๆ หลายช่วงจะกลายพันธุ์ จะเหมือนเจ้าดอลลี่ (เข้าใจว่าหมายถึง ดอลลี่แกะที่ทำโคลนนิ่ง ซึ่งได้ตายไปแล้วอายุสั้น) จะต้องขยายพันธุ์ด้วยความระมัดระวังเพื่อไม่ให้เกิดการอ่อนแอของสายพันธุ์
ม.ร.ว.แซมแจ่มจรัส รัชนี : โครงการหลวงแต่เดิมไม่มีโครงการออกมาทำงานนอกพื้นที่ แต่ข้าพระพุทธเจ้านำคณะออกมาปฏิบัติงานนอกพื้นที่เพื่อช่วยเหลือชุมชน ให้มีความเข้มแข็ง ให้ครอบครัวได้อยู่ด้วยกัน มีอาชีพ มีรายได้ โดยใช้แฝกนำทำเป็นโครงการต่างๆ ระดับหมู่บ้าน
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อย่าลืมว่า ต้องขยายพันธุ์ด้วยให้มีความเพียงพอ ปลูกกันทั่วถึง แล้วจึงค่อยต่อยอดออกไปจึงจะเป็นวงจรสมบูรณ์
ถึงได้ไม่มี ไม่พอ อยู่อย่างนี้ ทุกหน่วยงานต้องช่วยกันทำให้พอแจกจ่ายให้ชาวบ้านได้พอปลูกทั่วถึงกัน
ม.ร.ว.แซมแจ่มจรัส รัชนี : โครงการหลวงเห็นว่าการขยายพันธุ์เป็นงานโดยตรงของ กรมพัฒนาที่ดินและหน่วยราชการอื่น จึงได้เลี่ยงไปทำเรื่องการใช้ประโยชน์อื่นๆ ทำเชือกแฝกใช้เป็นอุตสาหกรรม ทำบ่อปลา ทำยุ้งฉาง
นายวีระชัยฯ : ปัจจุบันกรมวิชาการเกษตรก็ได้นำแฝกไปปลูกในพื้นที่ศูนย์สาธิตการเกษตรของสมเด็จพระนางเจ้าฯ โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือ และเป็นผู้ดูแลเรื่องการจดสิทธิบัตรพันธุ์พืชด้วย ข้าพระพุทธเจ้าขอเบิก นางประไพศรี พิทักษ์ไพรวัน รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร เพื่อรับสนองพระราชดำริ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว : พื้นที่โครงการหลวงอ่างขางปัจจุบัน ได้นั่งเครื่องผ่านไป ตอนนั้นไกลมากแล้ว เห็นว่าพื้นที่บนเขาถูกทำลายไปมาก มีการปลูกฝิ่น ต้นน้ำลำธารเสียหาย ต้องทำอะไรสักอย่าง ต้องการทดลองปลูกพืชต่างๆ เป็นตัวอย่างให้ชาวเขาลดเลิกยาเสพติด เมื่อก่อนมีแฝกปลูกมากด้วย ป้องกันดินพังทลายตามที่ลาดชันได้ดี
ม.ร.ว.แซมแจ่มจรัส รัชนี : ได้ทราบว่าประเทศจีนกำลังปลูกแฝกไว้มาก Dr.Yoon เมื่อครั้งมารับพระราชทานรางวัลหญ้าแฝกก็ได้คาดการณ์ไว้ว่า ประเทศไทยจะมีแฝกมากที่สุด มีพื้นที่อุดมสมบูรณ์ตั้งแต่ภูเขาจรดทะเล เพราะทุกหน่วยงานร่วมกันทำ โดยเฉพาะการมีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นหลักชัย
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว : ทุกหน่วยงานต้องร่วมมือกัน รัฐบาลต้องช่วยสนับสนุนประเทศจีนที่ว่าปลูกแฝกมาก จริงแล้วก็คงไม่เท่าใด เพราะมีช่วงอากาศหนาวจัด เย็นจัดแฝกไม่ชอบ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว : วันนี้จะพอแล้ว คนที่ยืนกันอยู่ก็น่าจะเมื่อยมาก ใครมีอะไรจะนำมาอธิบาย ก็ให้นำมาได้ คงจะเดินดูให้ทั่วไม่ไหว เพราะคงต้องใช้เวลาเป็นชั่วโมง
ให้คณะทำงานมาเข้าเฝ้าใกล้ๆ จะได้พระราชทานพร เป็นขวัญกำลังใจให้ทุกๆ คน
“ ขอให้ทุกคนมีความมุ่งมั่นในการทำงาน อย่าท้อถอย งานก็จะสำเร็จลุล่วงไปได้ เป็นประโยชน์ต่อชาติโดยรวม ขออวยพรให้พวกท่านทั้งหลายมีแต่ความสุข มีพลังกายและพลังใจที่แข็งแรง ทำงานได้สำเร็จดังประสงค์ เป็นกำลังที่สำคัญของประเทศชาติสืบไป ”
วันที่ 4 สิงหาคม 2548
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระราชดำริกับคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ และข้าราชการระดับสูง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ณ พระตำหนักเปี่ยมสุข วังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ สรุปดังนี้
ต้องปลูกตามแนวขวางของลาดเขาจะเก็บน้ำได้ ถ้าปลูกตามแนวลาดดินไหลหมดทำตามแนวขวางใช้แทรกเตอร์ไถคว่ำ ที่เขาเต่าแม้แต่เจ้าหน้าที่พัฒนาที่ดินปลูกแฝก ดินนอกไม่เปรี้ยวเป็นด่างมาก หญ้าแฝกมีหลายชนิด ชนิดที่ดีปลูกแล้วไม่ออกดอก ไม่เหมือนหญ้าคา หลังคาที่มุงแฝกทนมาก แฝกดีใบหนาไม่ติดไฟง่าย ปลูกขวางเป็นระยะๆ หญ้าคาติดไฟง่ายในหน้าแล้ง ปลูกใต้ต้นไม้ช่วยซับน้ำ แฝกช่วยไม่ให้หญ้าคาขึ้น หญ้าแฝกช่วยทั้งแล้งทั้งท่วม
วันที่ 31 สิงหาคม 2552
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระราชดำริกับนายอำพล เสนาณรงค์ องคมนตรี และคณะผู้ปฏิบัติงานโครงการพัฒนาและรณรงค์การใช้หญ้าแฝกอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ณ พระตำหนักเปี่ยมสุข วังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มีใจความสำคัญดังนี้ หญ้าแฝกนี้ได้ศึกษามาเป็นเวลาถึงสิบเจ็ดปี อย่างที่ท่านองคมนตรีได้กล่าวเมื่อตะกี้ ซึ่งก็นับว่าเป็นเวลาช้านาน แต่เป็นเวลาที่เป็นประโยชน์มากและได้ผลอย่างยิ่ง เป็นสิ่งที่น่ามหัศจรรย์ที่หญ้าชนิดเดียวได้รับการศึกษานานถึงขนาดสิบเจ็ดปี แต่ต้องเข้าใจว่าหญ้าแฝกมีหลายชนิด และถ้าไม้ได้ศึกษาก็ไม่ได้ประโยชน์ขึ้นมาอย่างที่ได้เกิดขึ้น
สิบเจ็ดปีนี่เกิดประโยชน์อย่างยิ่ง เพราะว่าเวลาทดลองต่างๆ ได้ปรากฏว่าหญ้าแฝกหรือหญ้าที่คล้ายๆ หญ้าแฝก ได้ทำประโยชน์ในด้านต่างๆ ซึ่งน่ามหัศจรรย์ที่หญ้าเพียงบางชนิดได้ประโยชน์ในที่ต่างๆ หญ้าแฝกบางชนิดได้เกิดประโยชน์ในที่ลักษณะเป็นที่ราบ บางแห่งก็ได้ประโยชน์ในที่ต่างกัน เช่น บนภูเขา ดินลึกก็มี ดินตื้นก็มี เรื่องดินลึกนั้นได้ปรากฏว่ารากได้หยั่งลึกลงไปถึงห้าหกเมตร แล้วก็ลงไปได้ ซึ่งแต่ก่อนนี้ไม่ได้นึกว่าหญ้าจะลงไปลึก ข้อสำคัญ หญ้านี้ได้หยั่งลงไปห้าหกเมตร และไม่ได้แผ่ออกไปข้างๆ แสดงว่าไม่ไปรังควานรากของพืชที่เป็นประโยชน์
อันนี้ตอนต้น ได้ไปเฝ้าสมเด็จพระบรมราชชนนี ซึ่งท่านเวลานั้นทรงไม่สบาย ทำให้ท่านมีความเรียกว่าเซ็งในชีวิต ก็ได้ไปเฝ้าที่วังสระปทุม ซึ่งเวลานั้นบอกได้ว่าท่านใช้คำว่าเซ็งน่ะ ไม่เกินความหมายของสภาพของท่าน ได้ไปกราบบังคมทูลว่า เดี๋ยวนี้ขอแรงท่านทำประโยชน์กับพืชอย่างหนึ่ง ซึ่งจะได้ประโยชน์ทั่วทั้งประเทศ ท่านรู้สึกว่าเกิดครึกครื้นขึ้นมา ท่านบอกว่ามีหรือ นึกว่าทำหมดแล้วศึกษาอะไรๆ หมดแล้ว เลยบอก เปล่านี่เป็นสิ่งที่ยังไม่ได้ศึกษาหรือศึกษาน้อย น้อยมากก็เลยเล่าให้ท่านฟังเรื่องความมหัศจรรย์ของหญ้าแฝก ซึ่งเป็นหญ้าธรรมดา แต่ว่ามีคุณสมบัติที่จะช่วยให้พืชในที่ต่างๆ มีประโยชน์ขึ้นมาอย่างมหัศจรรย์ คือว่าไม่ได้นึกเลยว่า จะใช้หญ้าธรรมดานี้มาทำให้การเพาะปลูกดีขึ้น
ท่านก็บอกว่าจะไปทำที่ไหน ก็กราบบังคมทูลว่า ทำในที่ที่เคยทรงปฏิบัติ ก็คือในที่ภูเขาส่วนหนึ่ง ที่ภูเขานั้นก็คือที่ที่โปรดมากที่ดอยตุงซึ่งถ้าไม่ได้ใช้หญ้าแฝกนี้ จะทำให้ที่แถวนั้นไม่เจริญ แล้วเจริญอย่างไร ก็ทำให้ที่ที่ตามปรกติเราเห็นไม่หญ้าก็พืชต่างๆ ขึ้นไม่เป็นปรกติ หมายความว่าหญ้าไปคลุม ไปปกคลุมที่ ทำให้ที่นั้นไม่บริบูรณ์ แต่ว่าหญ้าแฝกนี้ ถ้าทดลองหญ้าแฝก ที่เป็นประโยชน์จากหญ้าแฝกหลายชนิดจะทำให้ดี ที่แถวนั้นเจริญดีขึ้นโดยทำให้ที่เหล่านั้นมีความบริบูรณ์ขึ้น ด้วยการเลือกหญ้าที่เหมาะสม และปลูกในทางที่เหมาะสม และปลูกในทางที่เหมาะสมที่ถูกต้อง จะทำให้ที่เหล่านั้นสามารถทำประโยชน์ได้ เราก็ทูลท่านว่า จะทำให้ที่เหล่านั้นมีความเจริญ จะใช้ประโยชน์ของที่นั้นได้ดีมาก แล้วเล่าให้ท่านฟังว่า จะทำให้ที่เหล่านั้นมีความอุดมสมบูรณ์ โดยเลือกที่ แล้วเลือกหญ้าที่เหมาะสม จะทำให้ที่เหล่านั้นเจริญงอกงามอย่างมหัศจรรย์ แล้วเล่าให้ท่านฟังว่ามีวิธีปลูกอย่างไร และวิธีเลือกหญ้าแฝกชนิดต่างๆ
ท่านก็ตื่นเต้น แต่ท่านบอกว่า จะไปทำอะไรได้ ก็ทูลว่าถ้าทรงพร้อม ท่านไปเดี๋ยวนี้ก็ได้ ท่านก็ตื่นเต้น เลยเรียกคนของท่านบอกว่าเอ้าตกลง เดี๋ยวนี้แข็งแรงพอแล้ว จะไปได้ ความจริงท่านก็เพิ่งเริ่มแข็งแรง แต่ท่านครึกครื้นมาก ท่านบอกไปเดี๋ยวนี้เลย ลงท้ายหญ้าแฝกเป็นหญ้ามหัศจรรย์ที่ทำให้ท่านแข็งแรงทันที คนที่จะทำก็เกิดความดีใจ ในที่สุด เสด็จไปภายในไม่กี่วัน เสด็จไปดอยตุง แล้วก็ขอให้คนนำหญ้าชนิดต่างๆ มา เลยทูลว่าให้ไปปลูกหญ้าชนิดต่างๆ ในที่ต่างๆ เพื่อทดลอง บอกได้ว่าท่านครึกครื้นมาก รู้สึกท่านดีใจมากที่มีงานที่จะทำ เพราะเวลานั้นท่านกำลังเดือดร้อนในจิตใจ เพราะว่าหมอบอกว่าไม่ได้ เสด็จไปไม่ได้ ท่านก็บอกว่าทำไมจะไม่ได้ แล้วในที่สุดท่านก็ไป แล้วก็ไปเป็นคนภูเขา เสด็จไปได้อย่างประหลาด หมายความว่าท่านออกไปทันที ออกเดินน่ะ แล้วก็ออกไปปลูกหญ้าภายในไม่กี่วัน หญ้านั่นน่ะก็เจริญงอกงามออกมา ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ประหลาด
หญ้าบางชนิดก็หยั่งลงไปลึก อย่างที่บอกตะกี้ว่าสี่ห้าเมตร บางชนิดก็ถึงหกเมตร ในระหว่างที่หญ้าบางชนิดก็ลงไปเพียงสามเมตร แล้วก็ลงไปหกเมตรนี้ เท่ากับไปปกคลุมที่ ทำให้ที่เหล่านั้นสามารถที่จะป้องกันดินที่ปรกติจะทลายลงมา ดินที่ได้รับการปกป้องของหญ้าแฝกก็แข็งแรง ทำให้สามารถที่จะทำตามที่ต้องการ เป็นต้น ตามที่ต้องการคือให้บริเวณนั้นไม่มีการพังทลายลงมา เช่น ข้างถนน ทำให้ถนนได้รับการปกป้องไม่ให้ดินทลายลงมา ภายในไม่กี่วันก็จับดินข้างถนนได้อย่างแน่นแฟ้น ซึ่งก็เป็นเป้าหมายอย่างหนึ่ง ที่จะให้ปลูกสิ่งที่ป้องกันไม่ให้ทลายลงมา แล้วปรากฏว่าดินข้างถนนก็ไม่ทลาย อย่างเช่น ทางที่ขึ้นไปดอยตุงก็เป็นดินที่ปลอดภัย และทำให้ถนนนั้นๆ แข็งแรง ซึ่งเป็นผลที่มหัศจรรย์ เป็นผลของการปลูกหญ้าแฝก นอกจากนั้น ก็ทำให้การปลูกต้นไม้ข้างถนนสามารถปลูกได้อย่างปลอดภัยซึ่งก็เป็นผลแรกที่ได้ นอกจากนั้น ก็ได้ป้องกันที่ที่มันทลายลงมาแล้วทำให้เสียหายต่อการเพาะปลูก
ฉะนั้น เรียกได้ว่าภายในไม่กี่วัน ผู้ที่รับหน้าที่ไปถวายคำแนะนำก็ดีใจได้ที่เห็นว่าการเพาะปลูกหญ้าแฝกในทางที่ถูกต้อง ได้เกิดบรรลุผลขึ้นมา ข้อสำคัญจะต้องศึกษาว่าใช้หญ้าแฝกชนิดใดที่จะขึ้นได้ บริเวณใดที่จะขึ้นได้ดี และไม่ทำให้เสียหายต่อดิน เพราะว่าบางแห่งจะขึ้นได้อย่างดีต้องมีความกว้างของดินที่ได้ช่วย ซึ่งก็แปลกที่บางแห่งจะต้องปลูกให้ห่าง ห่างกันเป็นแนว เมตรเดียวก็มี แล้วแต่ความชันของดิน ภายในไม่กี่วัน ท่านได้ส่งแบบแล้วก็ขนาดของการปลูก เวลานั้นเราก็ไปเชียงใหม่แล้ว ก็เห็นว่าเป็นบริเวณที่ห่างกันไม่กี่เมตร บางแห่งก็ห่างกันหลายเมตร สำหรับปลูกหญ้าแฝก ฉะนั้น ก็ได้ผลภายในไม่กี่เดือน ได้ผลของการปลูกพืช ซึ่งก็ยาก ตอนนั้นยากที่จะได้ผลขึ้นมาได้ในระยะเวลาอันสั้นอย่างนั้น ทำให้ที่ดินเหล่านั้นเป็นประโยชน์ เราก็เห็นได้ว่าดินที่ได้รับการป้องกันจากพืชง่ายๆ อย่างเดียว ทำให้ดินเหล่านั้นมีประโยชน์ขึ้นมา การทดลองและผลของการเพาะปลูก โดยมากก็จะได้ผลภายในหลายเดือน แต่นี่ภายในไม่กี่เดือน ได้ประโยชน์ของการปลูกและทดลอง
ฉะนั้น เรื่องที่ได้ทดลองหญ้าแฝกนั้นได้ประโยชน์อย่างยิ่ง แล้วผู้ที่ได้ทำก็เกิดตื่นเต้นเหมือนกัน แม้จะรู้ว่าหญ้าแฝกนี่จะเป็นประโยชน์ แต่ไม่นึกว่าจะได้ประโยชน์มากมายอย่างนี้ ภายในไม่กี่เดือน ได้ทำให้ที่ดินกว้างขวางได้เกิดประโยชน์ขึ้นมา ฉะนั้น ก็เป็นสิ่งที่ทำให้เจ้าหน้าที่ทั้งหลายได้ให้ความตื่นเต้นและดีใจที่ได้ทำ ผู้ที่ทำนั้นก็เป็นผู้ที่มีความรู้ทางการพัฒนาดิน แต่ไม่ใช่อย่างนั้นเท่านั้น เป็นผู้ที่สามารถจะปลุกพืชอย่างหนึ่ง และทดลองพืชอย่างหนึ่งได้อย่างมีประสิทธิภาพ ต่อไปสำคัญคือ จะต้องดูว่าหญ้าแฝกที่มีในเมืองไทยมีหลายชนิด ทั้งบนภูเขา ทั้งบนที่ราบ ทั้งใกล้ทะเลก็มี ก็หมายความว่ามีที่จะต้องศึกษามากมาย และภายในสิบเจ็ดปีที่ได้ทำการทดสอบนี้ ก็หรากฎผลว่าได้ประโยชน์อย่างยิ่ง ทั้งหญ้าแฝกชนิดต่างๆ จากของเมืองไทยนี้เองที่ให้ประโยชน์ และทั้งหญ้าแฝกที่ได้มาจากประเทศอื่นๆ ทำให้เป็นประโยชน์ต่อการเพาะปลูกหลายแห่ง ซึ่งก็เป็นอย่างที่ว่ากันตั้งแต่ต้น ว่าเป็นสิ่งที่มหัศจรรย์ ผู้ที่ได้ศึกษานี้ มีทั้งผู้ใหญ่ ทั้งผู้เชี่ยวชาญ ทั้งผู้น้อย ก็ได้ทำประโยชน์ต่อเกษตรกรรมในประเทศและนอกประเทศด้วย ฉะนั้น ก็ต้องให้ทราบว่าที่ทำได้ ที่ได้ศึกษานี้มีประโยชน์ทั่วประเทศและทั่วภูมิภาคของโลก ฉะนั้น ทีท่านได้ไปช่วยกันทำเป็นประโยชน์จริงๆ ถึงต้องขอขอบใจที่ท่านทั้งหลายได้ทำหระโยชน์อย่างยิ่งต่อการเกษตรและการเพาะปลูก โดยเฉพาะในเมืองไทยก็ได้ช่วยให้ประเทศมีความเจริญขึ้นอย่างมาก อย่างแปลกประหลาด ฉะนั้น ต้องขอบใจท่านที่ได้ช่วยกันทำ มีหลายคนไม่เชื่อว่าหญ้าธรรมดานี้อย่างเดียวจะช่วยประเทศให้รอดพ้นจากอันตรายหลายอย่าง คนบางคนก็บอกว่าหญ้านี่มันเป็นวัชพืช แต่คนที่ได้ศึกษาออกมายืนยันว่าหญ้าแฝกนี่ไม่ใช้วัชพืช แต่เป็นหญ้ามหัศจรรย์ เป็นหญ้าที่ช่วยประเทศชาติ ฉะนั้น ที่ท่านได้ทำมาเป็นเวลาแรมปี เป็นประโยชน์อย่างยิ่งและเป็นสิ่งที่ช่วยประเทศชาติให้รอดพ้นจากอันตรายหลายอย่าง ก็ต้องขอบใจท่าน ที่ได้ตั้งใจทำงาน แม้จะเป็นงานที่เหน็ดเหนื่อย เพราะต้องไปทุกแห่ง แล้วต้องไปหาหญ้ามา หญ้านี่มีนานาชนิดนะ แล้วก็ต้องหาวิธีที่จะปลูกให้ดีที่สุด ได้ไปเห็นบางแห่ง เจ้าหน้าที่ได้ตั้งใจปลูกให้ดีที่สุด ให้ได้มากที่สุด แล้วได้ผลจริงๆ
ฉะนั้น ก็ต้องบอกท่าน งานท่านเป็นงานที่ยากอย่างหนึ่ง แต่ในที่สุดก็เป็นงานที่ได้ประโยชน์อย่างยิ่ง และได้เกิดประโยชน์อย่างมาก เหน็ดเหนื่อยที่ในการทำต้องไปทุกแห่งและจะต้องพยายามต่อสู้เพื่อดูว่าที่ไหนเหมาะสมในการทำการเพาะปลูกหญ้าแฝก และทำการศึกษาให้ดีที่สุด แต่ในที่สุดก็ได้ผลในการทำงานนี้ ได้ประโยชน์ขึ้นมาอย่างยิ่ง น่าตื่นเต้น อย่างเช่นที่สมเด็จพระบรมราชชนนีท่านมีความตื่นเต้นในการปลูกหญ้าแฝก ปลูกหญ้านี่น่ะ หญ้าธรรมดา ปลูกหญ้าเพื่อช่วยการเกษตรกรรม สร้างความเจริญแก่การเกษตรและการศึกษาของการสร้าง แม้จะสร้างถนน สร้างไร่นา ให้ได้ผลดีที่สุด
ก็ต้องขอบใจท่านที่ได้ช่วยกันทำ ต้องบอกว่าด้วยความเหน็ดเหนื่อย แล้ววันนี้ ท่านก็ได้ประโยชน์ ตอนนี้ได้ผลดีและยังมีผลต่อไปอีกมากมาย ก็ต้องขอบใจท่านทั้งหลายที่มีความเพียรอย่างนี้
วันที่ 25 กรกฎาคม 2554
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระราชดำริกับนายสุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา (ประธานกรรมการกิตติมศักดิ์สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร) และคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่และผู้ที่เกี่ยวข้อง ณ ห้องประชุมสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ชั้น 14 อาคารเฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลศิริราช มีใจความสำคัญดังนี้
สถานการณ์ดินถล่มที่มีเพิ่มขึ้นอย่างมากทั้งภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคใต้รับสั่งว่า แต่เดิมเคยมีดินถล่มครั้งใหญ่ที่ตำบลกระทูน อำเภอพิปูน จังหวัดนครศรีธรรมราช เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2531 เนื่องจากมีพายุดีเปรสชั่นเข้าก่อนหน้านั้น 3 – 4 วัน ครั้นถึงวันที่ 22 มีฝนตกใหญ่บริเวณพื้นที่เชิงเขาที่ชาวบ้านทำสวนยางพารา ดินอุ้มน้ำไว้ไม่ไหว ก็พังทลายทำความเสียหายทั้งพื้นที่เชิงเขาและบริเวณชายเขาด้านล่างที่ดินถล่มไปทับถม
รับสั่งว่า ในกรณีทั่วๆ ไปให้ใช้ความระมัดระวังในการดำเนินงาน เพราะแม้กระทั่งหญ้าแฝกซึ่งตามหลักจะป้องกันดินพังทลาย ก็อาจจะเป็นตัวการให้ดินถล่มได้ เพราะรากเจาะลึกทำให้ดินแตกแยก และนำน้ำลงไปอาจจะเป็นเหตุให้ดินพังทลายเสียเอง ตลอดจนการปลูกต้นไม้มักจะใช้ต้นไม้โตเร็วซึ่งส่วนมากไม่มีรากแก้ว ก็จะไม่ยึดดินไว้ได้ ฉะนั้น ควรศึกษาอย่างรอบคอบว่าโครงสร้างดินลักษณะใด ควรจะดำเนินการอย่างไร ปลูกพืชชนิดไหน จะได้แก้ปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพได้ หรือแม้กระทั่งการทดลองใช้กระสอบพลาสติกแบบมีปีกก็ต้องระมัดระวัง ศึกษาสภาพพื้นที่ให้ดีเพราะอาจจะเหมาะสมกับบางพื้นที่เท่านั้น ไม่สามารถใช้แบบเดียวกันได้ทั้งหมด
ทรงกังวลเรื่องการใช้พื้นที่เพาะปลูกในปัจจุบันที่รุกขึ้นไปบนเขา เข้าไปในป่า รับสั่งว่าเมื่อเสด็จ นิวัติประเทศไทยครั้งทรงพระเยาว์นั้น ประเทศไทยมีประชากร 18 ล้านคน ขณะนี้มีเกือบ 70 ล้านคนแล้ว จึงมีความต้องการพื้นที่เพาะปลูกเพิ่มเติม แต่ที่ดินในพื้นที่ราบก็มีเจ้าของหมดหากเข้าไปเพาะปลูกใช้ประโยชน์ก็เป็นการบุกรุกผิดกฎหมาย ยิ่งขับไล่ ก็ยิ่งรุกขึ้นไปบนเขาเข้าในป่ามากขึ้น จึงเห็นพื้นที่ปลูกยาง ปลูกปาล์ม ปลูกไม้โตเร็วต่างๆ เพิ่มขึ้นมาก ทั้งภาคอีสาน ภาคเหนือ พื้นที่ดินถล่มก็เพิ่มขึ้นตามมา ดินถล่มสร้างความเสียหายอย่างมาก กว่าจะฟื้นหน้าดินมาใช้เพาะปลูกอีกก็ใช้เวลาหลายปี เมื่อเปิดพื้นที่ใหม่ขึ้นไปบนเขาก็สร้างถนน ถนนที่สร้างผิดไปขวางทางน้ำก่อความเสียหายทั้งน้ำท่วมและดินถล่ม เห็นทั้งที่จังหวัดระยอง จังหวัดจันทบุรี จังหวัดชุมพร ภาคเหนือและที่เพิ่งเกิดเมื่อเดือนมีนาคมนี้ที่อำเภอเขาพนม จังหวัดกระบี่ อำเภอนบพิตำ จังหวัดนครศรีธรรมราช เห็นภาพสะพานพัง ถนนเสียหาย ต้องใช้สะพานเชือกกัน การจัดการที่อยู่อาศัยที่ทำมาหากินจะต้องใช้เวลาแก้ไขอีกนาน ระหว่างนี้ก็ต้องหาวิธีการที่เหมาะให้อยู่ได้ไม่ให้เกิดเสียหายอันตรายให้ชาวบ้านป้องกันตนเองได้ จัดการปัญหาดินถล่มจากการบุกรุกนี้ได้อย่างถาวร
มีพระราชดำรัสถึงประสบการณ์ปัญหาน้ำท่วมที่เกิดจากการสร้างถนนและวิธีการที่ทรงแก้ไขปัญหาน้ำท่วมว่า เมื่อก่อสร้างถนนสี่ช่องทางหน้าวังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เสร็จใหม่ๆ มีฝนตกหนัก น้ำไหลตามแนวถนนมาท่วม บริเวณหน้าวังไกลกังวลฝั่งตะวันตกเพราะเป็นพื้นที่ต่ำ เกาะกลางถนนขวางน้ำไว้ไม่ให้ไหล จึงรับสั่งให้ทุบเกาะกลางถนนให้น้ำไหลผ่านวังไกลกังวลไปลงทะเล แก้ปัญหาน้ำท่วมได้ ต่อมาวางท่อระบายน้ำ แต่น้ำก็ยังท่วมและขังอยู่บริเวณสถานีจ่ายกระแสไฟฟ้า เจ้าหน้าที่นำกระสอบมากั้นรอบสถานีแล้วสูบออก น้ำไหลวนอยู่อย่างนั้น ต้องรับสั่งให้หยุดสูบ แล้วทำทางระบายน้ำลงทะเล จะเห็นได้ว่าการสูบน้ำไม่ใช่ทางแก้ไขเสมอไป การจัดการน้ำไปเก็บหรือระบายให้ถูกต้องจะดีกว่า
มีพระราชดำริว่าหากจะแก้ปัญหาเหล่านี้ที่ต้นเหตุ คือ การปรับที่ดินทำกิน ที่อยู่อาศัย อย่างเหมาะสม ถูกต้อง ก็จะต้องใช้เวลา 10 – 20 ปี ไม่ทันกับความเสียหายที่รุนแรงละขยายตัวไปทั่วทุกภาค จึงจำเป็นต้องศึกษา วิจัย ทดลองให้ได้คำตอบว่าจะปลูกพืชอย่างไร ให้มีรากแก้วลึก สลับกับแฝก หรือพืชอื่นที่เหมาะสมตามสภาพ เช่น ที่ร่มไม่มีแดดก็อาจใช้ต้นไคร้นุ่น จัดการร่องน้ำไม่ให้น้ำมากัดเซาะ เพราะหากน้ำซึมลงไปได้ทั้งดิน ถนน สะพาน ก็ทลายลง การกระทำอย่างนี้จะเหมาะสมกับความลาดเอียงอย่างไร ต้องปรับความลาดเอียงช่วยหรือไม่ และหากพื้นที่ชันมากจะต้องเสริมโครงสร้างเข้าไปอย่างไร หากจะสร้างถนนในพื้นที่เสียงภัยเหล่านี้จะต้องสร้างอย่างไรไม่ให้น้ำกัดเซาะแล้วพังทลายเป็นอันตรายกับคน เหล่านี้ล้วนแต่เป็นปัญหาโจทย์ คือ มูลนิธิน้ำควรสนับสนุนส่งเสริมหรือทำวิจัยให้ได้แนวทางการจัดการปัญหาให้ได้ แล้วเผยแพร่ให้เป็นประโยชน์ ถึงแม้คนเหล่านี้จะทำผิดละเมิดกฎหมาย และหากจะแก้ปัญหาเหล่านี้ทั้งประเทศเงินเท่าไรก็ไม่พอ จึงต้องทำตัวอย่างให้ชัดเจนแล้วค่อยขยายผลให้ชุมชนอื่นทำ
|